4599 จำนวนผู้เข้าชม |
กรมวิชาการเกษตร รัวแจกข่าวดีสหรัฐไฟเขียวเปิดตลาดนำเข้าส้มโอไทยแบบไม่จำกัดพันธุ์ หลังคอยนาน 15 ปี นักวิจัยแจงเงื่อนไขส้มโอต้องผ่านการฉายรังสี 400 เกรย์ แหล่งผลิตและโรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรอง พร้อมลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนส่งออก มั่นใจรสชาติและสีสันเฉพาะตัวส้มโอไทยมัดใจผู้บริโภค เผยปี 64 สร้างรายได้เข้าประเทศทะลุ 900 ล้านบาท
กรมวิชาการเกษตรได้รับแจ้งข่าวดีจากหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ (APHIS) ประจำประเทศไทยว่าประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำเข้าส้มโอผลสดจากประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขการนำเข้าที่กำหนดแล้ว และผู้ประสงค์จะส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกาต้องลงทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อเข้าร่วม“โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนการส่งออก”นับเป็นข่าวดีที่รอคอยมานานถึง 15 ปี หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้เสนอขอเปิดตลาดส้มโอเมื่อปี 2549 พร้อมกับผลไม้อีกหลายชนิด แต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้รับอนุญาตจากสหรัฐอเมริกาให้นำเข้าได้เพียง 7 ชนิด คือ มะม่วง มังคุด เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด และแก้วมังกร เนื่องจากการที่จะอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ชนิดใดก็ตามจะต้องผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชจากประเทศผู้นำเข้าเพื่อป้องกันมิให้มีแมลงศัตรูพืชกักกันที่ไม่มีในประเทศผู้นำเข้าติดปนเปื้อนไปกับผลผลิต ซึ่งประเทศไทยได้ใช้เงื่อนไขการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชก่อนที่จะอนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้จากประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ประเทศไทยมีส้มโอมากกว่า 30 พันธุ์ที่มีลักษณะเด่น ได้แก่ พันธุ์ทับทิมสยาม เปลือกผลบาง เนื้อนิ่มมีสีชมพูเข้มหรือสีแดงเข้มคล้ายทับทิม มีเมล็ดน้อย รสชาติหวานไม่มีรสขมเจือปน ผิวผลส้มโอมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมคล้ายกำมะหยี่ มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พันธุ์ขาวแตงกวา ผนังกลีบสีขาว เปลือกบาง เนื้อกุ้งใหญ่สีขาวแห้ง รสชาติหวานฉ่ำ ให้ผลดก เป็นที่ต้องการของตลาด มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดชัยนาท และพันธุ์ทองดี ผิวเรียบ ผนังกลีบสีชมพู เนื้อกุ้งสีชมพู รสชาติหวาน ฉ่ำน้ำ ขายได้ราคาดี มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี เป็นต้น ซึ่งส้มโอไทยแต่ละพันธุ์มีรสชาติและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากส้มโอจากประเทศอื่นทำให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นผลไม้ที่สามารถเก็บรักษาได้ระยะเวลายาวนานจึงเหมาะสมต่อการขนส่งทั้งทางเครื่องบินและทางเรือ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดไปจำหน่ายในต่างประเทศได้จำนวน 29 ประเทศ โดยมีตลาดหลักที่สำคัญได้แก่จีนและมาเลเซีย ในปี2564 ประเทศไทยส่งออกส้มโอจำนวน 29,782 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 903 ล้านบาท
กลุ่มวิจัยการกักกันพืชสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากหน่วยงาน APHIS แจ้งให้ทราบถึงการอนุญาตการนำเข้าส้มโอผลสดจากประเทศไทยโดยให้เพิ่มส้มโอเข้าอยู่ภายใต้โครงการฉายรังสีที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับส้มโอเพื่อประกอบการประเมินจากคณะที่ปรึกษาโครงการฉายรังสี (Preclearance Advisory Group) เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตให้นำเข้าต่อไป ซึ่งการดำเนินการมาถึงขั้นตอนนี้แล้วคาดว่าในฤดูกาลผลิตส้มโอเดือนสิงหาคม 2565 นี้จะสามารถส่งออกส้มโอล๊อตแรกจากประเทศไทยไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกาได้แล้ว
สำหรับเงื่อนไขการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกานั้นผลผลิตต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP โรงคัดบรรจุได้รับการรรับรองตามมาตรฐาน GMP ก่อนการส่งออกต้องล้างขัดฆ่าเชื้อและจุ่มสารเคมีเพื่อกำจัดเชื้อราตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนเข้าร่วม“โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนการส่งออก”กับกรมวิชาการเกษตร โดยผลผลิตส้มโอที่จะส่งออกต้องผ่านการฉายรังสีที่ 400 เกรย์เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ซึ่งสามารถทำได้ทั้งก่อนส่งออกหรือที่จุดนำเข้าในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยหากฉายรังสีที่จุดนำเข้าไม่ต้องใช้ใบรับรองสุขอนามัยพืช แต่ต้องผ่านการตรวจสอบทุกล๊อตที่นำเข้าซึ่งการอนุญาตให้นำเข้าส้มโอจากไทยต้องเป็นการส่งออกเพื่อการค้าเท่านั้น
** ผู้ที่ต้องการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกาสามารถสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2940-6670 ต่อ 142 หรือ 0-2579-3496
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร