โรคในมังคุด (Mango Steen) ที่ชาวสวนควรรู้

1983 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคในมังคุด (Mango Steen)  ที่ชาวสวนควรรู้

อาการผิดปกติที่เกิดกับส่วนต่างๆของมังคุด  อาจจะมีสาเหตุมาจากการทำลายของโรคแมลงหรืออาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม  โรคแมลงและอาการผิดปกติที่สำคัญ ได้แก่ 

          1. หนอนชอนใบ เป็นหนอนของผีเสื้อชนิดหนึ่ง ตัวหนอนมีขนาดเล็ก  ตัวสีขาวนวลปนแดง  จะกินอยู่ใต้ผิวใบทั้งสองด้านและเห็นเป็นทางสีขาวคดเคี้ยวไปมา   ใบที่ถูกทำลายจะมีรูปร่างบิดเบี้ยวใบไม่เจริญเติบโตและมีขนาดเล็ก  หนอนชนิดนี้จะทำลายเฉพาะใบอ่อนเท่านั้น รวมทั้งต้นกล้ามังคุดที่อยู่ในเรือนเพาะชำ ก็มักจะพบการทำลายของหนอนชอนใบด้วย
          การป้องกันกำจัด ในระยะที่มังคุดเริ่มแตกใบอ่อน หากพบการทำลายให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแมลงในกลุ่มคาร์บาริล ทุก 7 วัน เมื่อใบแก่แล้วก็ให้หยุดพ่น



          2. หนอนกินใบ เป็นหนอนของผีเสื้อชนิดหนึ่งขนาดของตัวหนอน  ยาวประมาณ 2 ถึง 2.5 เซนติเมตร สีของตัวหนอนเหมือนกับสีของใบอ่อนมังคุด (สีเขียวแกมเหลือง) ถ้าหากไม่สังเกตอย่างละเอียดรอบคอบจะมองไม่เห็น  ตัวหนอนจะกัดกินแต่ใบอ่อนเท่านั้น ลักษณะการทำลายทำให้ใบเว้าๆ แหว่งๆ เหลือแต่ก้านใบทำให้มังคุดขาดความสมบูรณ์
          การป้องกันกำจัด  หมั่นตรวจดูแลบริเวณใบมังคุด หากพบว่ามีการทำลายให้หาเศษหญ้าแห้ง นำมากองรอบโคนต้นมังคุด ประมาณช่วงเวลาสายๆ ให้รื้อกองหญ้าทำลายหนอนหรือให้พ่นสารประเภทดูดซึม เช่น คาร์บาริล ในอัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ  5 ถึง 7 วัน หรือ อีมาเม็กติน เบนโซเอต ใช้อัตรา 20 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นลงบนพืชปลูก ทุก 7 วัน


          3. เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก เคลื่อนไหวตัวได้รวดเร็ว จะระบาดในช่วงที่อากาศแห้งแล้งติดต่อกันนานๆ โดยทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ของศัตรูชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนดอกอ่อน  และผลอ่อนของมังคุด หากเป็นยอดอ่อนจะทำให้ยอดแห้ง แต่หากเป็นดอกอ่อนและผลอ่อนจะทำให้ดอกร่วง และผลมีรอยสีน้ำตาลกร้านมียางไหลและจะทำให้ผลร่วงได้ ศัตรูชนิดนี้นับเป็นศัตรูสำคัญที่มีผลกระทบในการส่งออกมังคุดเป็นอย่างมาก
          การป้องกันกำจัด สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟได้ แก่ ฟิโปรนิล 5% เอสซี อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอลคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี และไซเพอร์เมทริน/โฟซำโลน 6.25% / 22.50% อีซี อัตรา 10, 10, 50 และ 40 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ตามลำดับและไม่ควรใช้สารเคมีป้องกัน กำจัดศัตรูพืชชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายครั้งเพราะจะทำให้เพลี้ยไฟสร้างความต้านทานต่อสารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืชและอาจเกิดแมลงศัตรูชนิดอื่นระบาดขึ้นมาได้


          4. ไรแดง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น ตัวโตเต็มวัยมีรูป ร่างกลมหรือรูปไข่  มีสีแดง  เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว  มักอยู่รวมเป็นกลุ่มและระบาดควบคู่ไปกับเพลี้ยไฟ โดยไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ดอกและผลอ่อน  ทำให้ดอกและผลอ่อนแห้งร่วงหล่นไปหรือทำให้ผลไม่เจริญ เปลือกมีผิดตกกระ เป็นขุย เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเช่นเดียวกันกับเพลี้ยไฟ
          การป้องกันและกำจัด ให้หมั่นตรวจดูในระยะที่มังคุดกำลังออกดอกและติดผล  หากพบให้พ่นด้วยกำมะถันผงหรือสารไดโคโพลทุก 7 ถึง 10 วัน

          5. โรคใบจุด  เกิดจากการทำลายของเชื้อรา  เชื้อราเข้าทำลายใบเกิดเป็น  รอยแผลไหม้สีน้ำตาลมีขอบแผลสีเหลือง  รูปร่างของแผลไม่แน่นอน  ทำให้ใบเสียเนื้อที่ในการสังเคราะห์แสง  ความสมบูรณ์ของต้นลดลง และถ้าระบาดรุนแรงใบจะแห้งทั้งใบและร่วงหล่น ทำให้ผลมังคุดไม่มีใบปกคลุม ผิวของผลมังคุดจะกร้านแดดไม่สวย
          การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ แมนโคเซบ คาร์เบนดาซิม หรือเบนโนมิล ถ้าพบการระบาดเข้าทำลายที่ใบจำนวนมาก ให้ป้องกันและกำจัดด้วยสารป้องกัน กำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม 50% ดับบลิวพี อัตรา 10 – 15 กรัมต่อนำ้ 20 ลิตร หรือ กลุ่มโคนาโซล เช่น โพรพิโคนาโซล เฮกซะโคนาโซน 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิต

          6. โรคใบแห้งและขอบใบแห้ง เกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม คือ แสงแดดจัด ความชื้นต่ำ ทำให้น้ำระเหยออกจากขอบใบมาก จนกระทั่งขอบใบแห้ง ทำให้มังคุดเจริญเติบโตช้า ต้นขาดความสมบูรณ์ให้ผลผลิตน้อย จึงควรหลีกเลี่ยงการปลูกมังคุดในสภาพที่มีภูมิอากาศไม่เหมาะสม และโดยทั่วไปก็มักจะพบอาการใบไหม้ขอบใบแห้งในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งตรงกับช่วงที่ผลมังคุดกำลังออกดอก ติดผลพอดี เมื่อใบมังคุดขาดความสมบูรณ์จะทำให้ผลมังคุดขาดความสมบูรณ์ตามไปได้                                
          การป้องกันกำจัด   ควรจะดูแลให้ต้นมังคุดได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง

 

ที่มา  กรมวิชาการเกษตร

 

ฟิโพรนิล 5% 1 ลิตร 256-260เซฟวิน85  1 kg  540 คาร์เบนดาซิม 50% SC  1 ลิตร 200-230อีมาเม็กติน เบนโซเอต 1 kg 299

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้