คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร EP.1

643 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร   EP.1

Carbon Credit คืออะไร
     ในทุกวันนี้เพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภัยปรากฎการณ์ธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทางสหประชาชาติและผู้นำต่างประเทศหลายคน จึงได้จัดการประชุมและร่างสัญญาเพื่อให้เป็นพันธมิตร ร่วมมือกันทำตามนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการประกาศใช้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือที่เรียกว่า อนุสัญญา UNFCCC) ที่มีผลใช้บังคับไปเมื่อปีพ.ศ.2537
     แต่โดยส่วนใหญ่ ปริมาณการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก จึงได้มีการใช้กลไกตลาดเพื่อจูงใจอุตสาหกรรมให้หันมาลดการปล่อยก๊าซมากขึ้น จึงได้ริเริ่มการซื้อขายที่เรียกว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ขึ้นมา

ตลาดคาร์บอนเครดิตคืออะไร?
     Carbon market เป็นเหมือนสถานที่หรือชุมชนที่ไว้ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งก็คือ คาร์บอนเครดิต กับผู้ซื้อหรือผู้ขาย หรือกับบุคคลอื่น ๆ ที่มีความต้องการเครดิต ตลาดคาร์บอนถูกจัดขึ้นเพื่อมุ่งสู้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
นอกจากนี้ ตลาดคาร์บอนยังเป็นตัวกลางในการดำเนินการซื้อขายคาร์บอน ที่สามารถส่งผลถึงการประสบความสำเร็จทางอ้อมของการกำหนดราคาสินค้าบนพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ

ตลาดคาร์บอนเครดิตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
ตลาดคาร์บอนทางการหรือภาคบังคับ (Mandatory market / Compliance market / Regulated market)
     หน่วยงานรัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นผู้กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตลาดนี้จะอยู่ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ หรือประเทศมีรายได้ปานกลางไปจนสูง โดยมีเป้าในการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน (Joint Implementation : JI)
     ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงในโครงการ JI จะเรียกว่า Emission Reduction Units (ERUs) มีค่าเท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเนื่องจากกรณีของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะต้องควบคุมตามกลไกที่เรียกว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการจัดสรรและอนุญาตให้ปล่อย (assigned amounts units : AAUs) ซึ่งจะจัดสรรการซื้อขายคาร์บอนระหว่างประเทศได้อย่างตรงจุดและเป็นธรรม และเป็นไปตามพันธกรณี

ตลาดแบบสมัครใจ (Voluntary market)
     ประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในตลาดนี้ เนื่องจากยังมีผู้ซื้อผู้ขายไม่มากพอ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดนี้จะเรียกว่า Verified Emission Reductions (VERs) สมาชิกในตลาดนี้ไม่สามารถขอใบรับรองจากหน่วยงานกลางเจ้าของโครงการ หรือคณะกรรมการกลางอย่าง UNFCCC ได้
     แต่ละโรงงานหรืออุตสาหกรรมจะไม่ได้ถูกเคร่งมากนัก ใครอยากทำขายก็ได้ตามความสมัครใจ แต่เราจะมีตัวกลางในการคำนวนและออกใบรับรองให้คือ อบก. หรือ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดูแลให้กับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย

คาร์บอนเครดิตหาได้จากไหน?
     อุตสาหกรรมต่าง ๆ เขาไปหาคาร์บอนเครดิตมาจากไหน แล้วคาร์บอนเครดิตหาได้จากอะไรบ้าง นี่คือคำถามสำคัญสำหรับผู้ที่อยากลงลุยพันธสัญญานี้บ้าง
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างง่ายเลย คือ การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหากสังเกตดี ๆ หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีนโยบาย กิจกรรมอาสาต่าง ๆ ในการลุยปลูกป่าหรือกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม นี่แหละคือแหล่งกำเนิดคาร์บอนเครดิต

ยกตัวอย่าง บริษัทหนึ่งจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลายไร่ ลองคำนวณดูก่อนสัก 1 ไร่ 1ไร่นี้มีต้นไม้กี่ต้นที่เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงเท่าไหร่ กว้างเท่าไหร่ เส้นรอบวงเท่าไหร่ เป็นต้น ส่งข้อมูลทั้งหมดนี้ให้กับอบก.คำนวนคาร์บอนเครดิตให้ รวมไปถึงขอใบรับรองด้วย ว่าเราได้คาร์บอนเครดิตของไร่นี้เท่าไหร่ และเราจะขายเท่าไหร่ โดยมีใบรับรองจากอบก.ว่าเราสามารถขายได้ เป็นต้น


     


อ้างอิง https://re-fti.org/carbon-credit-is/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้